ฤดูแห่งการสอบปลายภาคเริ่มต้นขึ้นแล้ว ช่วงนี้วัยรุ่นหลายคนน่าจะอดหลับอดนอนอ่านหนังสือสอบ จนแทบจะแปลงร่างเป็นหมีแพนด้ากันหมดแน่ ๆ แต่เอ๊ะ ! อ่านหนังสือสอบแบบไหนจะจำตำราเรียนขึ้นใจที่สุด และมีวิธีอ่านหนังสือสอบที่ไม่ต้องหักโหมจนสุขภาพพังให้ทำตามบ้างไหม สสส จะมาบอกเทคนิคอ่านหนังสือสอบให้จำขึ้นใจ แต่ไม่เสียสุขภาพกันค่ะ
"การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะได้เรียนรู้และวางรากฐานอนาคตไปตลอดทั้งชีวิต" พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง) ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และเวชศาสตร์วัยยุวัฒน์ เครือข่ายคนไทยไร้พุง สะท้อนมุมมองของการศึกษา
พญ.ธิดากานต์ ให้ความรู้ว่า ร่างกายมนุษย์จะมีระบบจัดการตนเอง หรือที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) ที่มีการกำหนดระยะเวลาทำงานของร่างกาย เช่น เมื่อถึงเวลา 21.00-22.00 น. (3-4 ทุ่ม) ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ช่วยซ่อมแซมร่างกาย อาทิ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโต ช่วยเพิ่มความสูง และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ตื่นเช้ามาก็จะรู้สึกสดชื่น แต่การนอนดึกจะไปทำลายจังหวะการหลั่งฮอร์โมน ทำให้การเจริญเติบโตชะลอตัวลง และการซ่อมแซมผิวพรรณก็จะแย่ลงด้วย ฉะนั้นการนอนดึกหรือนอนไม่พอ ย่อมมีผลกระทบต่อร่างกาย
นอกจากนี้การนอนดึกยังทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แก่เร็วขึ้น มีผมหงอก รู้สึกอยากกินของหวาน และมีไขมันสะสมมากโดยเฉพาะที่พุง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย
"ในช่วงของการสอบอาจมีนักเรียน นักศึกษา ที่จำเป็นต้องอ่านหนังสือในเวลากลางคืน (หมอไม่แนะนำให้นอนดึก) และมักหิวในช่วงดึก เพราะเกิดจากการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งควรกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น นมถั่วเหลืองรสจืด หรือ ถั่วลิสง อัลมอนด์วอลนัท พิตาชิโอรสธรรมชาติ แบบอบ ไม่ทอด และไม่มีเกลือผสม แทนขนมขบเคี้ยวจำพวกมันฝรั่งทอดกรอบ เพราะจะได้รับโปรตีน และไขมันที่ดี หรือเพิ่มความสดชื่นด้วยผลไม้รสเปรี้ยวก็ได้" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
พญ.ธิดากานต์ แนะนำว่า หากจำเป็นต้องอ่านหนังสือในช่วงกลางคืน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือขนมขบเคี้ยว ซึ่งจะทำให้ง่วงได้ง่าย เพราะมีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก ร่างกายสามารถดูดซึมได้เร็วมาก ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย และง่วงนอน รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะทำให้ได้รับคาเฟอีนมากเกินไป ซึ่งจะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว หรือบางคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ และอาจมีผลต่อการนอนหลับ ซึ่งจะทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอเมื่อถึงเวลานอน และส่งผลกระทบต่อวันถัดไป เป็นวัฎจักรที่แย่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังทำให้เสียสุขภาพอีกด้วย
พญ.ธิดากานต์ ยังเผย 3 เทคนิคการอ่านหนังสือให้ได้ผลไว้ดังนี้
1. ต้องอ่านเมื่อร่างกายพร้อม ไม่ฝืนตนเอง ไม่อ่านขณะง่วง เพราะจะทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง
2. สภาพแวดล้อมต้องพร้อม ไม่มีสิ่งรบกวนให้เสียสมาธิ เช่น ปิดโทรศัพท์มือถือ ปิดโทรทัศน์ เพราะหากทำหลายอย่างพร้อมกันจะทำให้ประสิทธิภาพของการจดจำเนื้อหาลดลง
3. ขณะอ่านควรคำนึงถึงเนื้อหาที่ครูเน้น เกิดการตั้งคำถามกับตนเองว่าอยากรู้เรื่องอะไร แล้วจึงอ่านเพื่อหาคำตอบนั้น ๆ เพราะการอ่านเพื่อหาคำตอบจะทำให้สนุกและไม่น่าเบื่อ และเมื่อหาคำตอบได้แล้ว ควรเล่าให้ตนเองฟังซ้ำอีกรอบ เพื่อทำความเข้าใจ เพราะการเล่าหรือการเขียนทบทวนเนื้อหาด้วยตนเอง จะสามารถทำให้จำได้นานขึ้น และหากมีเวลาควรทำข้อสอบเก่าซ้ำ ซึ่งจะช่วยอุดช่องโหว่ในด้านที่เรายังไม่รู้ได้ด้วย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บอกเสริมด้วยว่า ปัจจุบันข้อมูลด้านสุขภาพมีมาก แต่มีทั้งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเชื่อถือไม่ได้ หรือข้อมูลเชิงพาณิชย์ ซึ่งจำเป็นมากที่จะต้องมีหน่วยงานที่มีข้อมูลผ่านการคัดกรอง เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ และยังมีการส่งต่อโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น บทความที่หมอเขียนเผยแพร่ในเว็บไซต์ของเครือข่ายคนไทยไร้พุง จะมีการตรวจสอบโดยแพทย์ท่านอื่น เพื่อให้มั่นใจว่าบทความเหล่านี้เป็นบทความที่ถูกต้อง และต้องเป็นบทความที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ใด ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากหากข้อมูลที่ดีถูกส่งต่อ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพควบคู่ไปกับการศึกษาก็เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ เพราะนอกจากการศึกษาจะเป็นรากฐานของอนาคตที่ดีแล้ว สุขภาพที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเกื้อหนุนเช่นเดียวกัน ฉะนั้นเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เพื่อชีวิตที่ดีในอนาคตด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น